วิธีอ่านหนังสือเพื่อเป็นนักเขียน
“If we want to write, it makes sense to read—and to read like a writer.”
ถ้าอยากจะเขียน มันเป็นเรื่องปกติมากที่เราจะต้องอ่านและอ่านแบบนักเขียน
Francine Prose ผู้แต่งหนังสือ Reading Like a Writer
ถ้ากินอาหารเพื่อลิ้มรสชาติกับเพื่อหาวิธีทำให้ได้นั้นไม่เหมือนกัน การอ่านหนังสือแบบนักอ่านกับการอ่านเพื่อเป็นนักเขียนก็ต่างกัน มาเรียนรู้วิธีอ่านหนังสือเพื่อเป็นนักเขียนกันครับ
1. กฎ 3 ข้อของการอ่านอย่างนักเขียน (ที่ช่วยให้คุณมีหนังสืออ่านฟรีตลอดชีวิต)
ความลับที่นักเขียนไม่ได้บอกคุณคือเขามักมีหนังสืออ่านฟรีตลอดชีวิต ได้จากสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์ด้วย จากเพื่อนนักเขียนด้วยกัน หรือนำรายได้จากงานเขียนไปซื้อหนังสือที่ชอบ
กฎ 3 ข้อง่าย ๆ ที่จะช่วยให้คุณกลายเป็นนักเขียนได้คือ
- Structure: ไม่อ่านแค่เนื้อหาแต่อ่านที่มา
- Signature: เปลี่ยนสิ่งที่ได้ให้กลายเป็นภาษาตัวเอง
- Sharer: แบ่งปัน (สิ่งที่อ่าน) ในพื้นที่สาธารณะ
1. Structure: ไม่อ่านแค่เนื้อหาแต่อ่านที่มา
ที่มา : unsplash.com
สมมติว่าเราไปเที่ยวต่างประเทศ แวะเข้าร้านกาแฟ มองหาเมนูแปลกใหม่สักอย่าง เราคงจะสะดุดตากับ “Blue smurf 5 oz” ที่ตีกรอบน้ำเงินไว้อยู่บ้าง
ความแตกต่างระหว่างการดื่มแบบ “ผู้บริโภค” กับการดื่มแบบ “พ่อครัว”
ถ้ามองมุมผู้บริโภค คงคิดแค่ว่า “ชื่อเมนูแปลกดี ลองสั่งดีกว่า” แต่ถ้าใช้วิธีคิดของพ่อครัว อาจคิดว่า “ทำไมต้องตั้งชื่อแบบนี้ อะไรทำให้คนสั่งเมนูนี้เยอะ” แทน
วิธีคิดแบบแรกคือการ “เสพ หรือ บริโภค” ส่วนอย่างหลังคือการ “สร้าง หรือ หาวิธีทำ”
การอ่านแบบนักเขียนก็คล้ายกัน ควรถามตัวเองเสมอว่าที่อ่านไป “ชอบหรือไม่ชอบ ถ้าชอบ = ชอบเพราะอะไร ทำอย่างไรถึงจะเขียนได้แบบนี้” วิธีคิดแบบนักอ่านจะทำให้เราถอดรหัสการเขียนของคนเก่ง ๆ ไปใช้งานได้
ตัวอย่างเช่น หนังสือขายดีตลอดกาลของคุณงามพรรณ เวชชาชีวะ “ความสุขของกะทิ” สิ่งสะดุดตาตอนอ่านคือการตั้งชื่อในแต่ละบท
ที่มา : หนังสือความสุขของกะทิ, naiin.com
อ่านจบก็ได้ความว่า ชื่อบทเป็นสิ่งที่ กะทิ ตัวละครเอก พบเจอในทุกวัน เป็นคำคุ้นหู อ่านแล้วชวนนึกถึงบ้านต่างจังหวัดที่เรียบง่ายและร่มเย็น โดยผู้เขียนอยากสื่อว่าความสุขเกิดได้จากสิ่งรอบตัว
บทเรียนที่ถอดได้ คือ ถ้าตั้งชื่อตอนให้รู้ว่าจะเจออะไรในเนื้อหาและทำให้อยากรู้ว่าผู้เขียนจะเล่าเรื่องอะไรในนั้น ไม่ต้องยืดยาวหรือเป็นคำสละสลวยก็สามารถสะกดใจคนได้
2. Signature: เปลี่ยนสิ่งที่ได้ให้กลายเป็นภาษาตัวเอง
“Learn from idol then do better in your own way”
เรียนรู้จากไอดอลแล้วทำให้ดีกว่าในแบบของคุณ เป็นแนวคิดที่ผมใช้เสมอเวลาจะเขียนหนังสือสักเล่ม เราเป็นเหมือนคนอื่นไม่ได้ 100% และคนอื่นก็เป็นเหมือนเราไม่ได้เช่นกัน การอ่านหนังสือของนักเขียนในดวงใจ เคล็ดลับการเขียน (Structure) ของเขาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เราจำเป็นต้องเอาสิ่งเหล่านั้นมาปรับให้เป็นอัตลักษณ์ของตัวเองด้วย
ตัวอย่างเช่น หนังสือการลงทุนหุ้นเล่มหนึ่งที่ผมชอบมากเพราะรู้สึกว่าอ่านสนุก เข้าใจง่ายกว่าทุกเล่มที่เคยมีมา คือ วิธีอ่านงบการเงินสำหรับลงทุนหุ้น
ตัวอย่างบางส่วนของเนื้อหาในหนังสือ วิธีอ่านงบการเงินสำหรับลงทุนหุ้น
ที่มา : สำนักพิมพ์พราว, naiin.com
เหตุผลที่เล่มนี้อ่านสนุก เข้าใจง่าย มี 3 อย่าง
- เป็นเรื่องเล่า
- มีภาพประกอบ
- ใช้การ์ตูนลายเส้น
ซึ่งไอเดียนี้ก็ทำให้ผมเกิดความคิดว่า ถ้าหนังสือหุ้นที่ว่าอ่านยาก ยังสามารถสนุกได้ขนาดนี้ มันก็น่าจะใช้ได้กับการเล่าเรื่อง “ทักษะแก้ปัญหางานที่ซับซ้อน” ได้เช่นกัน
เป็นที่มาของการนำคอนเซปต์ทั้ง 3 อย่างมาใช้ในหนังสือของตัวเองชื่อ “วิธีแก้ปัญหายากให้ง่ายที่คนเก่ง (บริษัทระดับโลก) ใช้” และกลายเป็นหนังสือ Bestseller ในหมวดบริหารได้ในที่สุด
ที่มา : ขายดีติดอันดับ 1 รายสัปดาห์หมวดบริหาร ร้านหนังสือ se-ed ทุกสาขาในระหว่าง 17-23 ธันวาคม 2562
ตัวอย่างเรื่องเล่า ภาพประกอบ และการ์ตูนลายเส้น ในหนังสือ
สังเกตว่าผมมีการปรับแต่งให้เป็นแบบของเฉพาะตัว ใส่กรอบให้อ่านง่ายเหมือนหนังสือการ์ตูน เล่าเส้นเรื่องที่สอดคล้องกับเนื้อหา การเขียนให้มีอัตลักษณ์หรือจุดเด่นของตัวเอง ช่วยให้คนจดจำได้ง่ายขึ้นแน่นอน
3. Sharer : แบ่งปัน (สิ่งที่อ่าน) ในพื้นที่สาธารณะ
การแชร์ในพื้นที่สาธารณะทำให้นักเขียนได้ประโยชน์หลายอย่างมาก
3.1 ได้ฝึกทักษะการเขียน
จริงอยู่ที่การเขียนแล้วอ่านเองก็ได้มุมที่ควรแก้ แต่การเขียนแล้วแชร์ เราได้ฟีดแบ็กจริงจากคนอ่านที่น่าจะสนใจหนังสือของเรา
3.2 ได้คนที่อาจเป็นลูกค้าเรา
เราไม่ได้ดึงดูดลูกค้าแต่เป็นคุณค่าที่เราส่งมอบการเขียนแล้วแชร์ ทำให้ลูกค้ารู้ว่าเรามีคุณค่าอะไรบ้างที่เขายินดีซื้อบริการ หรือพูดอีกมุมคือเป็นการให้ทดลองใช้ฟรี ชอบก็ค่อยซื้อ ไม่ชอบก็ไม่ได้เสียความรู้สึกอะไร
3.3 เพิ่มโอกาสที่จะมีสำนักพิมพ์มาติดต่อ
ส่วนตัวผมเชื่อว่ายุคสมัยของการส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์แล้วรอการตอบรับนั้นใกล้หมดแล้ว สำนักพิมพ์ยินดีที่จะร่วมงานกับนักเขียนที่มีผู้ติดตามจำนวนหนึ่งและมีผลงานเขียนให้เห็นว่าน่าจะขายได้มากกว่า (ผมก็มีสำนักพิมพ์สนใจชวนไปออกหนังสือด้วยหลังมีผู้ติดตามหลักหมื่นแล้ว)
ปัญหาใหญ่ คือ ความกลัวจะ “ดีไม่พอ” ของเราเองครับ ผมเองช่วงแรกก็เจอปัญหาเดียวกัน วิธีคิดที่ทำให้ผ่านมาได้คือ “ไม่มีใครสนใจเรื่องของเราหรอก คนอ่านสนใจว่าเขาจะได้ประโยชน์อะไร” มุ่งมั่นเขียนสิ่งมีประโยชน์กับผู้อ่านให้มากที่สุด เก็บฟีดแบ็กที่ทำให้เราก้าวไปข้างหน้า อดทนทำไปเรื่อย ๆ ให้นานพอ ผมเชื่อว่าสุดท้ายเราจะกลายเป็นนักเขียนที่ดีได้แน่นอน
ถ้าวันนี้คุณอ่านหนังสือแล้วเริ่มรู้สึกอยากปล่อยของ ลองเริ่มมาอ่านหนังสือแบบที่นักเขียนอ่านดู รับรองว่าจะสนุกขึ้นอีกหลายเท่าเลย และที่สำคัญอาชีพจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีนักอ่าน เห็นด้วยไหมครับ ^^
“I can’t write without a reader. It’s precisely like a kiss—you can’t do it alone.”
“ฉันไม่สามารถเขียนได้หากไม่มีผู้อ่าน มันเหมือนกับการจูบ—คุณไม่สามารถทำคนเดียวได้”-John Cheever- นักเขียนนิยาย เรื่องสั้น