ทำอย่างไรถึงจะเป็นนักเขียน Bestseller
ระหว่างปี 2019-2023 ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์นักเขียนระดับประเทศหลายสิบคนผ่านเพจ “สรุปให้” หลัง Live จบผมมักขอความรู้เพิ่มว่ากว่าจะเป็นนักเขียนได้พวกเขาผ่านอะไรกันมาบ้าง
1. 3 สิ่งที่นักเขียน Bestseller คล้ายกับนักทำซูชิ
บังเอิญว่าคำตอบของส่วนใหญ่ตรงกับเรื่องราวในการ์ตูนโปรดของผม “ไอ้หนูซูชิ” เรามาเรียนรู้สิ่งที่นักเขียน Bestseller ส่วนใหญ่ทำผ่านการ์ตูนเรื่องนี้กัน
ที่มา : Naiin, Vibulkij Comic
ไอ้หนูซูชิ เป็นเรื่องราวของ โชตะ เด็กหนุ่มฮอกไกโดที่มาฝึกทำซูชิในโตเกียว วัตถุประสงค์คือกลับบ้านไปช่วยงานร้านคุณพ่อที่สถานการณ์ไม่สู้ดี ตีพิมพ์ระหว่างปี 1992-1997 จำนวน 44 เล่ม จุดเด่นของเรื่อง คือ การแข่งขันทำซูชิ ฝึกฝีมือกับคู่แข่งทั่วประเทศ
เกี่ยวกับยังไงกับการเขียนหนังสือลองอ่านไปด้วยกันครับ
2. อย่างที่ 1 : ทุกอย่างเริ่มจากค้นหาวัตถุดิบชั้นเลิศ
ถ้าถามว่าผมชอบอะไรที่สุดในการ์ตูนเรื่องนี้ คำตอบคือการเสาะหาวัตถุดิบชั้นเลิศเพื่อมาใช้แข่ง
สมัยทำงานที่ญี่ปุ่นใหม่ๆ ยอมรับว่าผมแยกไม่ออกระหว่างซูชิทูน่าจานหมุนราคา 100 เยนกับซูชิเซตละหลายพันเยนในร้านดังที่หัวหน้าพาไปเลี้ยง เพราะมันก็จืดเหมือนๆกัน (ถ้าหัวหน้ารู้คงเสียใจฮ่าๆ)
แต่ผ่านไปได้สักครึ่งปีเหมือนว่าประสาทปลายลิ้นของผมจะพอแยกแยะความสดและรสชาติที่แทบไม่ได้ปรุงแต่งของปลาดิบได้ดีขึ้น
ผมยังจำรสชาติของซูชิเซตละเฉียดหมื่นเยนที่รุ่นพี่พานั่งรถจากหอพักกว่า 2 ชั่วโมงเพื่อไปกินถึงตลาดปลาได้ วินาทีที่เนื้อปลาละลายคาปากและลิ้นความเข้ากันของข้าวและปลาที่ไร้กลิ่นคาว ซึ่งต้นตอความอร่อยมาจากความสดของปลาในฤดูที่ดีที่สุดของมันยิ่งทำให้ผมตระหนักว่าวัตถุดิบที่ใช้ทำซูชิมีความสำคัญมาก
ในแต่ละด่านของการแข่ง โชตะและคู่แข่งจะได้โจทย์เดียวกันจากคณะกรรมการและมีเวลาในการเสาะหาวัตถุดิบมาใช้ทำซูชิในวันประกวด
ถ้ามองด้วยตาเปล่าซูชิเหมือนแค่แลเนื้อปลามาแปะกับข้าวแต่ความจริงรสชาติที่ได้นั้นมาจากองค์ประกอบหลายอย่าง เช่นน้ำส้มที่ใช้ผสมกับข้าวปั้นเผื่อให้มีรสตัดกับปลา
ผลแพ้ชนะในหลายครั้งแทบจะตัดสินได้ตั้งแต่แรกจากวัตถุดิบที่หาได้ การแข่งที่ผมทึ่งเป็นการตามหาวัตถุดิบซึ่งมีเฉพาะเมืองฟุกุโอกะมาทำซูชิ
คู่แข่งและโชตะต่างก็ได้ปลาและข้าวที่ตรงตามโจทย์
แต่มีเพียงโชตะเท่านั้นที่ใช้น้ำส้มหมักจากข้าวประเภทเดียวกันซึ่งจะเสริมรสข้าวปั้นอร่อยให้ขึ้น แถมยังหุงข้าวด้วยน้ำซึ่งไม่มีใครคาดคิด
เขาสังเกตว่ารสชาติพิเศษของข้าวนี้น่าจะมาจากน้ำที่ใช้ปลูกข้าวเลยค้นหาแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้พื้นที่เพาะปลูกจนเจอถ้ำที่มีตาน้ำ จึงเอาน้ำในนั้นมาหุงข้าว (อ่านจบผมถึงกับอุทานในใจว่า เฮ้ย! ขนาดนี้เลยหรือ)
ถ้าวัตถุดิบชั้้นเลิศมีผลต่อรสชาติซูชิแค่ไหน ข้อมูลชั้นเยี่ยมในการเขียนหนังสือก็ไม่ต่างกัน
การจะเป็นนักเขียนมีหนังสือ Bestseller ของตัวเองจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ไม่ใช่ใครก็สามารถหาได้ ข้อมูลที่ว่าอาจจะเป็นประสบการณ์ตรงหรือยากจะหาได้ด้วยตัวเอง
นักเขียนที่ผมนึกถึงเวลาพูดเรื่องนี้คือ อาจารย์เกด ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดแบบญี่ปุ่น วัตถุดิบที่เธอเสาะหานั้นมาจากญี่ปุ่นแท้ๆไม่กี่คนที่จะเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หนังสือ Omotenashi ของเธอจึงทรงคุณค่า
ที่มา We Learn, Naiin
เมื่อได้วัตถุดิบดีมากแล้วการจะปรุงให้อร่อยก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
3. อย่างที่ 2 : หาวิธีปรุงให้อร่อย
โชตะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการฝึก หุงข้าว แล่ปลาอย่างทุ่มเท ฉากประจำที่เห็นได้แทบทุกเล่มคือการฝึกจนโต้รุ่งเพื่อหาวิธีเปลี่ยนสุดยอดวัตถุดิบให้กลายเป็นซูชิที่กรรมการต้องทึ่ง
หลายคนคงเคยเห็นโอเด้งหัวไชเท้ากันมาบ้าง สำหรับผมมันคือเมนูในดวงใจเพราะราคาไม่แพงกินแล้วอุ่นท้องก่อนเดียวจุกหลับสบายฮ่าฮ่าฮ่า
ที่มา Wikipedia
ครั้งหนึ่งเจ้าของร้านซูชิได้สอนทักษะการต้มหัวไช้เท้าให้โชตะ หลังต่างคนต่างเตรียมน้ำซุปเรียบร้อยก็เอาหัวไช้เท้าใส่ในหม้อซุปของตัวเอง ปรากฏว่าหัวไช้เท้าในหม้อของโชตะดูดน้ำซุปเข้าเนื้อมากเมื่อเทียบกับของเจ้าของร้านและรสชาติก็อร่อยต่างกัน
โชตะใช้เวลาทั้งคืนเพื่อไขปริศนาจนโต้รุ่งก็ยังไม่ได้คำตอบ การโหมงานหนักทำให้เขามีไข้ เดือนร้อนเพื่อนต้องเอายามาให้ทาน
ทันทีที่ดื่มน้ำต้มสุกที่เพื่อนทำไว้ให้เพื่อกันมวนท้องหลังกินยา เขาก็ได้คำตอบ (ทางการแพทย์ “น้ำสุก” หมายถึง น้ำที่ต้มจนเดือด แล้วทิ้งไว้ให้เย็นที่อุณหภูมิห้อง) ที่หัวไช้เท้าเจ้าของร้านดูดน้ำซุปดีเพราะออกซิเจนในน้ำไม่มาขัดขวางกระบวนการดูดซึมน้ำ เป็นหลักการเดียวกับน้ำต้มสุกที่ไล่ออกซิเจนออกจากน้ำระหว่างต้มให้เดือด และเมื่อโชตะลองใช้น้ำซุปที่ถูกทิ้งไว้ให้เย็นก่อนแล้วมาต้มซ้ำเขาก็ได้ผลลัพธ์เหมือนเจ้าของร้าน!! (อ่านจบผมถึงกับออกไปหาโอเด้งกิน ฮ่าๆ)
ไม่ว่าจะอาชีพไหน การฝึกฝนก็สำคัญกว่าการเรียนทฤษฏีเพียงอย่างเดียว
หลังได้วัตถุดิบชั้นเลิศแล้ว โชตะมักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการหาวิธีปรุงมันเป็นอาหารชั้นยอดเสมอ เขาฝึกฝนหลายสิบหลายร้อยครั้งจนได้วิธีปรุงที่เหมาะสมกับวัตถุดิบนั้นเสมอ
นักเขียนก็เช่นกัน เราเก่งขึ้นไม่ได้ถ้าไม่เขียน
Kabazawa Shion บอกไว้ในซีรีส์หนังสือดังของเขา ชื่อ The power of input และ The power of output ว่า สัดส่วนการรับ Input ต่อการเปลี่ยนเป็น Output ที่ดีนั้นคือ In 3: Out 7
หลังได้ข้อมูลมากพอแล้วก็หมั่นเขียนเปลี่ยนวัตถุดิบนั้นให้เป็นบทความที่ยอดเยี่ยมด้วยนะครับ แล้วสิ่งสำคัญอีกอย่างที่นักเขียน Bestseller ทุกคนต้องผ่านคืออะไร หัวข้อถัดไปมีคำตอบ
4. อย่างที่ 3 อย่าคิดเองว่าอร่อยให้คนกินตัดสิน
แม้จะพยายามเสาะหาวัตถุดิบ ฝึกปรุงรสชาติของอาหารให้ได้มากที่สุดจนมั่นใจว่าอร่อยแต่สุดท้ายซูชิของโชตะก็พ่ายแพ้ให้กับคู่แข่งเสียอย่างนั้น เพราะคนที่ตัดสินไม่ใช่ตัวเขาแต่คือคณะกรรมการต่างหาก
นักเขียนก็เช่นกันแม้ตั้งใจเขียนสุดฝีมือแต่อาจไม่ได้ผลตอบรับที่ดีจากคนอ่าน แต่โชตะก็กลายเป็นนักทำซูชิที่เก่งขึ้นเสมอ เพราะเขายอมเปิดใจฟังคำแนะนำจากคณะกรรมการว่าเพราะอะไรถึงตัดสินว่าอร่อยน้อยกว่า และเอาสิ่งนั้นมาปรับปรุงในครั้งถัดไป
จะเป็นนักเขียน Bestseller ได้ก็ควรได้รับคำแนะนำ (Feedback) จากบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ และผู้อ่านเช่นกัน
ผมมักเปรียบเปรยการรับ Feedback ว่าเหมือนการส่องกระจกดูผมด้านหลังก่อนออกจากร้านตัดผม เราไม่มีทางปรับปรุงตัวเองได้ถ้าไม่มีใครสะท้อนมุมอับของเราให้ฟัง
ความจริงคือแม้ “ทำน้อยได้มากไม่ยาก วิธีวางแผนให้สำเร็จตั้งแต่เริ่ม” จะเป็นหนังสือเล่มที่ 7 ของผมแต่หลังคุยกับบรรรณาธิการแล้วก็ยังต้องแก้ต้นฉบับราว 40%
สรุป
ถ้าถอดเรื่องราวของโชตะมาเป็นบทเรียนให้นักเขียนคงจะได้เป็นภาพนี้
- INPUT
หมั่นหาข้อมูลวัตถุดิบที่จะเขียน หัวใจสำคัญคือการหาข้อมูลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แหล่งที่มาน่าสนใจ ไม่ใช่ข้อมูลทุกคนเข้าถึงได้ หรือเป็นประสบการณ์ตรงยากเลียนแบบ - OUTPUT ฝึกฝนที่จะเปลี่ยนข้อมูลดีๆให้เป็นบทความชั้นยอดเหมือนอาหารที่ถูกปรุงอย่างดีจากวัตถุดิบพรีเมี่ยม ลองค้นหาต้นแบบนักเขียนที่ชอบ ปรับให้เป็นวิธีของตัวเอง ทำซ้ำจนเป็นอัตลักษณ์
3. FEEDBACK หาคนที่หวังดีกับเราอย่างจริงใจ เปิดใจรับฟัง ปรับปรุงวิธีหาข้อมูล วิธีเขียนของตัวเอง
5. กำลังใจส่งท้าย
“อยากเป็นนักเขียน Best seller” ผมพูดกับตัวเองขณะที่ยืนอยู่หน้าร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ตามองผนังร้านที่มีหนังสือ Best seller วางอยู่
ไม่รู้เหมือนกันว่ามั่นใจมาจากไหนเพราะวันที่พูดผมกำลัง “ตกงาน” ไม่รู้สักนิดว่าต้องทำยังไงถึงวางขายในร้านหนังสือได้
โชคดีที่เซนเซเล็กรุ่นพี่ของผมรู้จักบรรณาธิการหนังสือและนัดประชุมให้พูดคุยกันจนเขาตกลงทำหนังสือให้
14 กรกฏาคม 2016 คือจุดเริ่มต้นของไอเดียหนังสือเล่มแรกเป็นหนังสือวิธีทำงานของพนักงานบริษัทระดับโลก
ชื่อ Toyota Minds คิดระดับโลกคุณก็ทำได้ และมันได้พาผมได้เวทีงานสัปดาห์หนังสือในปีถัดมา
รูปถ่ายบนเวทีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2017
จากนั้นก็ฝึกเขียนบทความทุกสัปดาห์ เขียนหนังสืออีก 2 เล่มจนเป็นนักเขียน Bestseller ได้ในที่สุดกับ Master of one page summary เปลี่ยนยากเป็นง่ายด้วยการคิดบนกระดาษหนึ่งใบที่คนญี่ปุ่นใช้ ที่ปัจจุบันพิมพ์แล้ว 12 ครั้ง
ยังได้รับเกียรติให้ขึ้นงานสัปดาห์หนังสืออีกครั้งกับคุณพอล ภัทรพล ศิลปาจารย์ นักแสดง นักธุรกิจ นักเขียน Bestseller ที่ถ้าไม่ใช่เพราะการเขียนหนังสือก็ไม่มีทางนึกออกเลยว่าจะเป็นไปได้อย่างไร
รูปถ่ายในความทรงจำกับเซนเซเล็กและ คุณพอล ภัทรพลบนเวทีงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 47
จากวันที่อยู่หน้าร้านหนังสือผมใช้เวลาเดินทาง 935 วันเต็มเพื่อไปถึงเป้าหมาย
ถ้าเปรียบการฝึกเขียนวันละ 2.5 ชั่วโมงเป็นการเดินทุกวัน 935 วันหรือ ราว 2,340 ชั่วโมงที่ผมไม่เคยหยุดเดิน Google Maps บอกว่าผมสามารถออกจากกรุงเทพไปยืนบนหอไอเฟล กรุงปารีสได้
นักเขียน Bestseller เป็นไปได้แต่เป็นง่ายๆไม่มี
อีกบทเรียนสำคัญที่ผมได้ระหว่างตามฝันคือ
“อย่าเทียบ Day 1 ของตัวเองกับ Day 1,000 ของใครเพราะยังไงก็ยากจะเท่ากัน”
นักเขียน Bestseller ส่วนใหญ่ไม่ได้เขียนเก่งแต่แรก วันที่เขาประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่ Day 1 แต่มันผ่านการเคี่ยวกรำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนได้วิธีเขียนในแบบฉบับของตนเอง ยากที่สุดไม่ใช่วันที่ 1,000 แต่เป็นวันแรก
เรามักกลัวดีไม่พอ กลัวการถูกตำหนิ กลัวสายตาคนอื่นจนไม่กล้าเชื่อว่าเราทำได้
ไม่กล้าอนุญาติให้เชื่อว่าตัวเองในวันที่ 1,000 จะเก่งพอเป็นนักเขียน Bestseller ได้
สุดยอดเทคนิคที่ผมใช้และอยากส่งต่อคือ “วาดรูปความสำเร็จ” ครับ
ไม่จำเป็นต้องวาดสวย ขอให้ได้แรงใจจากมันก็พอครับ ผมวางมันไว้ในจุดที่มองเห็นได้ทุกวัน ทุกครั้งที่ขี้เกียจ ลืม ท้อ เมื่อเห็นภาพวาดนี้ผมจะมีเรี่ยวแรงกับมาเสมอประมาณว่า อึ้บ เอาเสียหน่อยไอ้แป๊ะ
นับหนึ่งให้ได้แล้วฝึกเขียนต่อไปทั้งที่ยังไม่เห็นผล คือหนทางที่จะทำให้คุณได้เห็นหนังสือของคุณวางอยู่บนกำแพงร้านหนังสือครับ ^^