นักเขียนรายได้เท่าไร? พอเลี้ยงชีพไหม
“Find something you love to do, and you’ll never work a day in your life.”
–Harvey Mackay- นักเขียนขายดีของ New York Times
1. เมื่อความฝันกับความจริงอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
2016 เป็นปีที่ความฝันอยากเป็นนักเขียนผลิใบ ตอนนั้นผมยังทำงานประจำเป็นวิศวกรออกแบบรถยนต์ ชอบอ่านหนังสือ วินาทีที่เริ่มต้นเขียนหนังสือเล่มแรก ผมก็รู้ทันทีเลยว่านี่แหละอาชีพในฝัน
การได้ตื่นแต่เช้า นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ เปิดเสียงสายฝนเคล้าดนตรีเบา ๆ จิบกาแฟสักแก้ว พร้อมกับปล่อยให้จินตนาการและความรู้มาบรรจบกันเป็นข้อความที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้คนนั้น เป็นสิ่งที่ผมหลงใหลและมีความหมายกับชีวิต (ชั่วขณะที่นิ้วสัมผัสแป้นพิมพ์ เขียนบทความนี้ ผมก็ยังคงรู้สึกแบบนั้นอยู่ ^^)
แต่ก่อนจะมาเป็นนักเขียนจริง ๆ ผมก็ไม่เคยรู้ว่านักเขียนเป็น “สัมมาชีพ” หรืออาชีพสุจริตที่ใช้หาเลี้ยงชีพได้ไหม
แน่นอนว่าหากเราอยู่จุดสูงสุดของอุตสาหกรรมได้ ไม่ว่าอาชีพอะไร ก็สามารถอยู่ได้ เช่น J.K. Rowling ผู้แต่ง Harry Potter, Haruki Murakami เจ้าของ 1984, Norwegian Wood ที่สร้างยอดขายถล่มทลายทั่วโลก หรือ คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ ผู้รังสรรค์ผลงานระดับซีไรต์ “ความสุขของกะทิ” ที่มียอดจำหน่ายหนังสือในซีรีส์กว่า 500,000 เล่ม
นักเขียนทุกคนรวมถึงผมด้วยที่ฝันอยากจะยืนจุดนั้น แต่ต้องยอมรับความจริงด้วยว่าคนเหล่านั้นคือคนจำนวนน้อยมากท่ามกลางเหล่านักเขียนนับล้านในโลก
และระหว่างการเดินทาง เราก็จำเป็นต้องมีเสบียงเลี้ยงปากท้อง การยืนอยู่บนความจริงว่ารายได้ของนักเขียนส่วนใหญ่เป็นเท่าไหร่ อุตสาหกรรมนี้ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ยังคงมีความสำคัญอยู่
นิยามของ “เลี้ยงชีพได้” ในที่นี้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางท่านบอกว่าถ้ามีรายได้สัก 30,000 บาทก็อยู่ได้ บางท่านก็อาจจะต้องมากกว่านั้น ในบทความนี้จึงอยากชวนมองภาพใหญ่ของอุตสาหกรรม แล้วให้ทุกท่านตัดสินใจด้วยตัวเองกันครับ
หมายเหตุ :
1. ก่อนเริ่มต้นอาชีพ ผมอยากอ่านบทความแนวนี้สุด ๆ เพราะการที่ใครสักคนจะตัดสินใจว่าจะประกอบอาชีพอะไรมันสำคัญมาก ดังนั้นถ้ามันจะยาวสักนิด มีตัวเลขข้อมูลเยอะกว่าที่คิดสักหน่อยก็ขออภัยด้วยนะครับ (จากใจวิศวกรเก่าที่อาชีพไม่ยินยอมให้ใช้แค่ความรู้สึกตัดสินใจ แต่ต้องใช้ข้อมูลด้วย)
2. ข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเลขการเงินส่วนใหญ่แปลงด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ 33 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ
2. ภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมหนังสือโลก
อาชีพที่ดูแลตัวเองได้ควรมีคุณสมบัติสำคัญคือ ทำได้นานตราบเท่าที่เรายังทำงาน และถ้าจะให้ดีก็ควรมีขนาดของอุตสาหกรรมที่ใหญ่ขึ้น เพราะยิ่งเราชำนาญขึ้นก็ควรมีผลตอบแทนที่มากขึ้น ไม่น้อยลง
ยกตัวอย่างใกล้ตัวของบ้านภรรยาผมที่เดิมประกอบอาชีพสองอย่าง 1. ร้านหนังสือการ์ตูนให้เช่า 2. ร้านเกมคอมพิวเตอร์ เหตุผลที่บ้านเธอเลือกทำอาชีพนี้เพราะชอบอ่านการ์ตูนและบ้านอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย
ทำอยู่ได้ราว 10 ปีก็ต้องปิดตัวลง เพราะคอมพิวเตอร์ราคาถูกลง นักศึกษาซื้อมาและเล่นเกมผ่านอินเทอร์เน็ตในหอพักได้ ส่วนการ์ตูนก็อ่านในเน็ตได้เช่นกัน การมาของอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ IT ราคาถูกก็ทำให้อาชีพนี้หายไป
ดังนั้นคำถามแรกที่ควรพิจารณาคือตลาดหนังสือใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงในภาพระดับโลกในอีกอย่างน้อย 10 ปีต่อจากนี้
ประเทศที่บริโภคหนังสืออันดับต้น ๆ ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกานั้น คาดการณ์แนวโน้มขนาดตลาดว่าจะยังคงใหญ่ขึ้นแม้เป็นการเติบโตอย่างช้า ๆ ที่ 2.2% CAGR ระหว่างปี 2022-2030
เครดิตข้อมูล : www.grandviewresearch.com
ในขณะที่ขนาดของตลาดหนังสือทั้งโลก (Global Market Size) ในปี 2021 นั้นเท่ากับ 138 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเป็น 142 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.6 ล้านล้านบาทไทย ในปี 2022 ซึ่งมากกว่ารายได้ทั้งปีของบริษัทอันดับหนึ่งในไทยอย่างปตท. เสียอีก
ถ้าคิดว่าคนไทยทั้งประเทศเติมน้ำมันกันทั้งปี ดื่มกาแฟแอมะซอนกันหลายล้านแก้วต่อปี ก็ยังน้อยกว่าเม็ดเงินที่คนทั้งโลกซื้อหนังสือรวมกัน ก็ยังพออุ่นใจได้ว่าตลาดนี้ใหญ่และยังคงเติบโตอยู่ (เย้)
แล้วนักเขียนระดับโลกที่เรารู้จักมีความมั่งคั่งเท่าไหร่กันบ้าง?
ผมลองค้นหาด้วยคีย์เวิร์ดว่า “The richest authors in the world 2023” website ส่วนใหญ่จะแสดงผลดังนี้
5 อันดับนักเขียนที่มีความมั่งคั่งสุทธิสูงสุดปี 2023 (ล้านบาท)
ชื่อนักเขียน |
ความมั่งคั่งสุทธิ (ล้านบาท) |
ประเทศ |
หนังสือเด่น |
Elisabeth Badinter |
56,100 |
ฝรั่งเศส |
The Conflict |
J.K. Rowling |
33,100 |
อังกฤษ |
Harry Potter |
James Patterson |
26,400 |
|
Alex Cross |
Danielle Steel |
19,800 |
The Gift |
|
Stephen King |
16,500 |
The Shining |
ที่มา : https://www.edudwar.com/richest-authors-in-the-world/
ด้วยความมั่งคั่งสุทธิระดับ 33,100 ล้านบาทของ J.K Rowling เทียบได้การเป็นเจ้าของบริษัทมหาชนเช่น โรงพยาบาลวิภาวดี หรือ บริษัทอสังหาริมทรัพย์อย่าง AP Thailand ที่มีมูลค่าตลาดที่ 33,000-38,000 ล้านบาทในปี 2023 เลยทีเดียว
พูดภาษาชาวบ้านก็คือรวยโคตร ๆ กินใช้ไม่หมดในชาตินี้อย่างแน่นอน
แต่อย่างที่บอกไปว่าคนกลุ่มนี้คือนักเขียน Best Selling Authors of All-Time อยู่จุดสูงสุดของพีระมิดในอุตสาหกรรม แล้วคนอีกจำนวนมากที่ประกอบอาชีพนี้มีรายได้อยู่ที่เท่าไหร่
ข้อมูลจาก https://datausa.io/profile/soc/writers-authors
พบว่าในปี 2020 มีคนที่ประกอบอาชีพนักเขียนอยู่ราว 171,000 คนในสหรัฐอเมริกา มีรายได้ต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 63,607 เหรียญต่อปีหรือราว 2,000,000 บาทต่อปี
ที่มา : https://datausa.io
แล้วตัวเลข 2,000,000 บาทต่อปีหรือ 175,000 บาทต่อเดือนนี้จะเกิดได้กับนักเขียนไทยด้วยหรือเปล่า เรามาหาคำตอบกัน
3. อุตสาหกรรมหนังสือและอาชีพนักเขียนในประเทศไทย
วิธีวิเคราะห์ว่านักเขียนไทยจะมีรายได้ระดับเดียวกับนักเขียนที่สหรัฐหรือไม่ทำได้หลายวิธี อันดับแรกลองดูจากภาพรวมของตลาดก่อน
เรารู้แล้วว่าในสหรัฐอเมริกา ตลาดหนังสือมีขนาดราว 3.67 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี และมียอดขายเติบโตราว 2.2% CAGR ในอีก 10 ปีข้างหน้า
สมมติฐานง่าย ๆ ก็คือถ้าตลาดหนังสือไทยมีขนาดไม่ห่างกันมากนัก รายได้ของนักเขียนโดยเฉลี่ยก็น่าจะใกล้เคียงและพอเลี้ยงชีพได้
ข้อมูลสถิติจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ในเอกสารเผยแพร่สาธารณะชื่อ “แถลงการณ์ที่สุดสิ่งพิมพ์ 2021” เราพบว่า
ขนาดตลาดของหนังสือเล่มในประเทศไทยนั้นใหญ่ราว 12,500 ล้านบาทต่อปีและเมื่อมองแนวโน้มก็มีขนาดลดลงทุกปีนับตั้งแต่ 2014 จนถึง 2020
ที่มา : https://pubat.or.th/
1,200,000,000,000 ล้านบาทของสหรัฐอเมริกากับ 12,500,000,000 ล้านบาทของไทยห่างกันราวเกือบ 100 เท่า!
แม้เชื่อว่าตัวเลขในปี 2566 น่าจะดีขึ้นหลังสถานการณ์โควิดจบลง ตัวเลขขนาดตลาดจากแนวโน้มที่ลดลงก็น่าจะยังห่างกันกว่า 50 เท่าเป็นอย่างน้อยอยู่ดี (ประมาณ 40 เท่า ถ้าใช้ 29,300 ล้านบาทในปี 2557)
ถ้าเค้กก้อนเล็กกว่าเกือบ 50 เท่า ความน่าจะเป็นที่นักเขียนจะมีรายได้ใกล้เคียงกันที่ 175,000 บาทต่อเดือนย่อมมีน้อย
หมายเหตุ :
A. ตัวเลขข้อ PUBAT ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า “หนังสือเล่ม” หมายถึงหนังสือที่จับต้องได้อย่างเดียวหรือรวมหนังสือเล่มที่เป็นรูปแบบดิจิทัลด้วยนะครับ
B. อีกด้านก็เป็นโอกาสเช่นกัน สหรัฐอเมริกามีประชากร 331 ล้านคน ส่วนไทย 69 ล้านคน ห่างกันไม่ถึง 5 เท่า ปัจจุบันตลาดหนังสือของอเมริกาที่น่าจะเป็นอันดับ 1 ของโลกห่างกับตลาดของไทยอยู่ถึง 40-50 เท่า ก็หมายความว่าตลาดของไทยอาจจะสามารถขยายตัวได้อีกหลายเท่าเลย ถ้าอุตสาหกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากทุกฝ่าย
อีกหนึ่งวิธีที่จะดูรายได้ต่อปีของนักเขียนนอกจากภาพใหญ่แล้ว เราอาจดูได้จากภาพเล็กหรือยอดขายหนังสือของนักเขียนคนที่เราพอหาได้ในตลาดไทยกัน
คนแรกที่ผมนึกถึงคือคุณ งามพรรณ เวชชาชีวะ เจ้าของซีรีส์ “ความสุขของกะทิ” เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาที่กระทรวงศึกษาแนะนำ ตีพิมพ์แล้วเกิน 100 ครั้ง นับตั้งแต่วางจำหน่ายครั้งแรกในปี 2004
หนังสือความสุขของกะทิ ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 100 (ที่มา naiin.com)
เฉพาะความสุขของกะทิเล่มแรกนั้นมียอดจำหน่ายครบ 500,000+ เล่มในช่วงเวลา 13 ปี (500,000/13 = 38,000 เล่มต่อปีโดยเฉลี่ย)
ที่มาของ 500,000 เล่มใน 3 ปี : https://www.naiin.com/product/detail/200085
หนังสือ 1 เล่ม นักเขียนมักได้ค่าลิขสิทธิ์ราว 8-15% ต่อราคาปก
เรามาลองคำนวณรายได้ต่อปีของตัวเอง หากเราสามารถสร้างผลงานระดับตำนานได้กัน แน่นอนว่างานเขียนระดับนี้ นักเขียนน่าจะได้ค่าลิขสิทธิ์สูงสุดที่ 15%
ราคาหนังสือ 125 บาท
ค่าลิขสิทธิ์ 15% ต่อเล่ม = 18.75 บาทต่อเล่ม
ขายได้เฉลี่ย 38,000 เล่มต่อปี
รายได้เฉลี่ยต่อปี = 712,500 บาทต่อปี (38,000*18.75)
รายได้เฉลี่ยต่อเดือน = 59,000 บาทต่อเดือน (หาร 12 ปัดเศษ)
อย่างที่บอกไป เป็นการยากที่จะตัดสินว่านักเขียนเป็นอาชีพที่เลี้ยงชีพได้ไหม เพราะความต้องการรายได้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน
จุดสังเกตอย่างหนึ่งคือนี่เป็นตัวเลขของนักเขียนระดับประเทศกับผลงานที่เป็นตำนานของเมืองไทย หมายความว่าในการเริ่มต้น นักเขียนทั่วไปที่เขียนหนังสือได้ปีละ 1 เล่มก็น่าจะมีรายได้ที่น้อยกว่านี้พอสมควร
4. ถ้ายังอยาก เขียน-อยู่-ได้ มีเส้นทางไหนให้เลือกเดินบ้าง
ถ้าจากการพิจารณาข้อมูลที่ผมให้ไป คำตอบของคุณคือ “รายได้จากการเขียนไม่พอ” แต่หัวใจก็ยังเรียกร้องโหยหาการเขียนอยู่
ไม่ต้องตระหนกไปครับ เราคือเพื่อนกัน
ส่วนตัวผมแม้จะชื่นชอบและหลงรักการเขียนชนิดที่ว่าถ้าเลือกประกอบอาชีพได้อย่างเดียวโดยไม่สนใจเรื่องรายได้ อาชีพนักเขียนนี่แหละคือความหมายของชีวิตผม (หลายคนก็อาจจะเป็นเหมือนกัน)
จากประสบการณ์ตรงในฐานะนักเขียนที่มีผลงานพอจะติดอันดับขายดีกับเขาอยู่บ้าง ก็ต้องยอมรับว่ารายได้จากค่าลิขสิทธิ์อย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์การเงินผมได้ (โปรดเห็นใจชายภรรยา 1 ลูก 2 ด้วยครับ ฮ่า ๆ)
ซีรีส์ หนังสือที่คนทำงานทุกคนต้องมีที่เขียนร่วมกับเซนเซเล็ก อันดับ 1 หมวดบริหารรายสัปดาห์จากการจัดอันดับของร้านหนังสือ se-ed
ซีรีส์เก่งเงิน เก่งลงทุน ที่เขียนร่วมกับไอดอลอย่างพี่แพท ภาววิทย์ กลิ่นประทุม อันดับ 3 หมวดการเงินการลงทุนรายสัปดาห์
แต่ถ้าจะเลิกไปเลยแล้วทำอาชีพอื่นก็ไม่เอาเหมือนกัน ก็ในเมื่อเราค้นเจอแล้วว่าอยากทำอะไร ทำไมหาวิธีที่จะทำให้เราอยู่กับมันได้โดยที่รายได้ก็ตอบโจทย์แทนล่ะ
นั่งคิดอยู่พักใหญ่ก็ได้แผนที่แบบนี้มาครับ
แนวทางของมันคือทำอาชีพอื่นหรือใกล้เคียงที่งานเขียนจะส่งเสริมเกื้อกูลรายได้
อธิบายยาก ลองดูภาพประกอบจะดีกว่า
แผนภาพนี้อธิบายคนที่สร้างรายได้ต่างกัน 4 รูปแบบ แต่ทุกแบบสามารถจะสร้างรายได้จากงานเขียนได้เช่นกัน
กลุ่ม A: จะมีรายได้สองทาง ทางแรกจากค่าลิขสิทธิ์หนังสือต่อเล่ม ทางที่สองคือกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หลังการขายหนังสือ
พูดอีกทางคือหนังสือเล่มเดิมยอดขายเท่าเดิมแต่มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 8-15% เป็นมากกว่านั้นนั่นเอง แต่แน่นอนว่าก็ต้องแลกกับการทำงานด้านบริหาร การตลาด การขายเพิ่ม และจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนหนึ่งในการเริ่มต้น (แถมต้องแบกรับโอกาสขาดทุนอีกด้วยนะ) กลุ่มนี้จึงน่าจะเหมาะกับนักเขียนระดับแม่เหล็กที่มีแฟนคลับติดตามมากระดับหนึ่งแล้ว
ตัวอย่างของคนกลุ่ม A: คุณเอ๋ นิ้วกลม (KOOB), คุณวินทร์ เลียววาริณ (Winbookclub), พี่หนุ่ม The Money Coach (Live Rich)
กลุ่ม B: นักธุรกิจ คือกลุ่มที่รายได้หลักไม่ได้มาจากงานเขียนหนังสือโดยตรง แต่สามารถใช้ทักษะเขียนและสื่อสารเป็นสิ่งเชื่อมโยงให้สินค้าบริการของพวกเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น มักพบเห็นได้ในกลุ่มคนที่มีธุรกิจของตัวเอง คนที่อยากเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์
สำหรับคนที่รักการเขียนเป็นหลัก ชอบมากกว่าที่จะมีพื้นที่สงบส่วนตัว ไม่ชอบการบริหารคนจำนวนมาก ไม่อยากเสี่ยงขาดทุน เส้นทางนี้ก็อาจจะไม่เหมาะนัก แต่สำหรับคนที่ตรงกันข้าม เริ่มต้นจากการทำธุรกิจมาก่อนและหลงรักหนังสือ การเขียนก็เปิดโอกาสดี ๆ ให้ชีวิตได้ไม่น้อยเช่นกัน
ตัวอย่างของคนกลุ่ม B: คุณรวิศ หาญอุตสาหะ (Srichand), อาจารย์หนุ่ย ณัฐพล ม่วงทำ เพจการตลาดวันละตอน (Data Service), คุณนพ พงศธร Co-founder Startup (Refinn)
กลุ่ม C: นักเขียนอาชีพ คือกลุ่มที่รายได้หลักมาจากการเขียนอย่างเดียว ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศก็ J.K. Rowling, Stephen King, Haruki Murakami, Higashino Keigo
กลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่คนอ่านบทความนี้ใฝ่ฝัน (ผมด้วยนะ)
Haruki Murakami และ Stephen King เคยเล่าไว้ในหนังสือของพวกเขาว่าตื่นมาก็มักเริ่มงานเขียนเลย ใช้เวลาครึ่งเช้าค่อนไปบ่ายนิดหน่อยเขียนให้ได้ตามเป้าหมาย จากนั้นก็เป็นเวลาทิ้งตัว ออกกำลังกาย พักผ่อน เดินชอปปิง ใช้ชีวิต ดูหนัง ฟังเพลง โอ้ยยยยยยย อะไรมันจะดีขนาดนี้
ตัวอย่างคนกลุ่ม C: สำหรับประเทศไทย ยอมรับว่าผมนึกไม่ออกครับ ฮ่า ๆ ในความเป็นจริง คงมีอยู่ไม่น้อยสำหรับสายวรรณกรรม ที่ใกล้เคียงที่สุดตอนนี้ที่นึกออกก็อาจจะเป็น ดร.ป๊อบ ผู้แต่งวรรณกรรม The White Road และคุณงามพรรณ เวชชาชีวะ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทั้ง 2 ท่านก็มีทักษะอื่น ๆ อย่างการแปลหนังสือ (คุณงามพรรณ) สอนเขียน Copywriting (ดร.ป๊อบ) หรือเขียนคำโฆษณา
กลุ่ม D: ผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มนี้อาจไม่ได้ทำธุรกิจ แต่ก็มีความเชี่ยวชาญบางอย่างที่สูงพอจะสร้างรายได้หลักโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นอาชีพอิสระหรืองานประจำ แต่งานเขียนของพวกเขาก็มักจะเกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญในอาชีพที่ทำและหนังสือก็จะเปิดโอกาสให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตาม
ตัวอย่างคนกลุ่ม D: ดร.กฤตินีหรืออาจารย์เกด ผู้เชี่ยวชาญการตลาดแบบญี่ปุ่น ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ Podcaster ชื่อดัง ผู้เชี่ยวชาญการตั้งเป้าหมายแบบ OKRs
ผมตอนนี้ก็น่าจะถูกจัดอยู่ระหว่างกลุ่ม B และ D ครับ คือมีธุรกิจของตัวเอง สรุปให้ เป็น Media Education Company กับเป็นผู้เชี่ยวชาญ วิทยากรบรรยายวิธีทำงานให้มีประสิทธิภาพและสอนคนที่อยากเขียนหนังสือให้ขายดีผ่านหลักสูตร How to Make Bestseller Book เขียนได้ขายดี
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ลองมาใส่หน้าคนในแต่ละกลุ่มลงไปกัน
ถ้ายังอยากเขียน-อยู่-ได้อย่างจริงจัง ลองเลือกรูปแบบที่ทำให้การเขียนอยู่ในชีวิตของคุณดูครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นไปตลอด ผมเองก็มีแแผนที่จะเปลี่ยนจากกลุ่ม D ไปเป็น A และ B ในอนาคตครับ
5. นักเขียน อาชีพที่ทำได้ตลอดชีวิต
นักเขียนเป็นอาชีพที่มีเสน่ห์หลายอย่าง ผลงานไม่ขึ้นกับยุคสมัยหรือชาติกำเนิด ขอเพียงคุณถ่ายทอดสิ่งที่โดนใจคนจำนวนมาก ก็ง่ายที่จะได้รับการยอมรับ
นอกจากนี้ยังไม่จำกัดอายุ เพศ วัย ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็มีแต่คำชื่นชม
“อายุน้อยแต่เขียนได้ดีมาก อายุขนาดนี้ยังเขียนได้เข้ากับยุคสมัย เก่งสุด ๆ ไปเลย”
หลักฐานยืนยันคำพูดผมคือการที่กินเนสส์บุ๊กรายงานว่านักเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์ผลงานด้วยวัยสูงที่สุดมีชื่อ Jim Downing เขาเขียนหนังสือที่ชื่อว่า The Other Side of Infamy ในปี 2016 ในวัย 102 ปีกับอีก 176 วัน
ที่มา : amazon.com และ audible.com
จากห้วงอารมณ์หลังจากนั่งเขียนบทความนี้ไปแล้วกว่า 4 ชั่วโมง ผมก็ยิ่งมั่นใจว่าอย่างน้อย ๆ ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะยังเห็นตัวเองนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ เขียนงานต่อไป (อาจจะใช้ AI ช่วยเขียนแทนพิมพ์เองตามยุคสมัย)
คงมีไม่กี่อาชีพที่ทำได้ตลอดชีวิต ไม่ต้องคิดเรื่องเกษียณ ไม่ใช่มุมที่ว่าอายุเยอะแล้วก็ยังทำงานได้ ไม่ใช่เพราะเงิน แต่เพราะมันเป็นความสุขที่ได้ตื่นเช้ามาได้สนุกกับชีวิตต่างหาก
เขียนไปด้วยกันนะครับ ^^