วิธีกลั่นความรู้ลงสู่หนังสือ
ความรู้เต็มหัวแต่เปลี่ยนเป็นหนังสือไม่ได้
ถ้าคุณคือคนที่อ่านหนังสือเป็นร้อยเล่ม ลงมือทำจนมีประสบการณ์และผลงาน จนใคร ๆ ก็บอกว่าเขียนหนังสือได้แล้ว หรือคุณมีไอเดียและจินตนาการที่แจ่มชัดว่าตัวละครจะทำอะไรบ้าง ถึงจุดพีคยังไง จบแบบไหน แต่พอจะเรียบเรียงให้เป็นหนังสือสักเล่ม กลับไม่รู้จะเริ่มยังไงดี บทความนี้มีแนวทางให้ครับ
ไม่ใช่ไม่เก่ง แค่ยังไม่รู้วิธีการ
ผมเองตอนเขียนหนังสือเล่มแรก ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเริ่มยังไง จนหลังจากที่ทำหนังสือ Bestseller ได้ 3-4 เล่ม ก็ตกผลึกกับตัวเองได้เป็นหัวข้อตามหนังสือ Bestseller เล่มแรก “เปลี่ยนยากเป็นง่ายด้วยการคิดบนกระดาษหนึ่งใบฯ” ของผมกับเซนเซเล็กเลยครับ (และเป็นแนวทางเดียวกับที่ผมสอนในหลักสูตร How to Make Bestseller Book เขียนได้ขายดี ที่เปิดแล้วกว่า 5 รุ่น)
- Planning : เข้าใจผู้อ่านให้มากที่สุด
- Prioritizing : ออกแบบหัวข้อสารบัญ ปริมาณข้อมูล และลำดับในการเขียน
- Packaging : ออกแบบวิธีการเล่าเรื่อง การจัดรูปเล่มให้น่ามอง น่าอ่าน
Planning : เข้าใจผู้อ่านให้มากที่สุด
ถ้านึกถึงอาหารสักอย่างที่อยากทานมากที่สุดในมื้อที่กำลังจะถึง อาหารนั้นคืออะไรครับ แล้วถ้าเกิดแค่คิดไว้ในใจเฉย ๆ ไม่ได้บอกใคร ปรากฏว่าคนที่บ้านเตรียมไว้ให้แล้วที่โต๊ะอาหาร วินาทีแรกที่เห็นมันมาวางตรงหน้า รู้สึกยังไงครับ
เดาว่าน่าจะรู้สึกดี เซอร์ไพรส์มากกว่าที่จะเสียใจใช่ไหม
ถ้าเปรียบนักเขียนเป็นเชฟแข่งทำอาหาร เชฟที่เลือกเมนูถูกใจกรรมการย่อมมีโอกาสชนะมากกว่า นักเขียนก็เช่นกัน อยากเขียนอะไร อาจไม่สำคัญเท่าคนอ่านอยากอ่านอะไรจากเรา
การเข้าใจผู้อ่านเริ่มจากกำหนดให้ชัดว่าหนังสือเล่มนี้จะเขียนให้ใคร เขาจะได้ประโยชน์อะไรจากหนังสือเล่มนี้ และเพื่อให้เขารับรู้ประโยชน์ของมัน หนังสือควรจะชื่อว่าอะไร
ยกตัวอย่างหนังสือ Bestseller อีกเล่มหนึ่ง Money Summary สรุปเรื่องเงินให้เข้าใจง่ายในหนึ่งเล่ม พี่หนุ่ม Money Coach และผมกำหนดชัดเจนว่าจะเจาะกลุ่มคนที่รู้สึกว่าการเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องยากและใช้เวลาเรียนรู้นาน เล่มนี้จึงให้ความรู้การเงินครบถ้วน ง่ายและใช้เวลาอ่านไม่นาน เป็นต้น
ดร.กฤตินี อาจารย์เกด เจ้าของหนังสือ Bestseller อย่าง Rinen, Omotenashi, Makoto Marketing ให้เทคนิคไว้ว่า ลองนึกหน้าคนที่เราอยากเขียนหนังสือให้ แล้วเขียนเหมือนเล่าให้เพื่อนฟัง วิธีนี้จะทำให้ผู้อ่านประทับใจ เพราะเรื่องราวต่าง ๆ ออกแบบมาเพื่อเขาโดยเฉพาะ
ตอนที่ผมเขียนบทความนี้ ผมก็กำลังนึกถึงคุณคนที่อยากมีหนังสือเป็นของตัวเองสักเล่ม แต่พอจะเปิดคอมพิวเตอร์มา พิมพ์อะไรบางอย่างก็ไม่รู้จะเริ่มยังไง สารบัญก่อนดี หรือ พิมพ์เนื้อหาสักบทก่อนดี กลัวไม่ต่อเนื่องกัน กลัวสั้นไปหรือยาวเกิน โอ้ยยย ฟุ้งไปหมด ฮ่า ๆ (ผมก็เคยเป็นมาก่อนครับ)
Prioritizing : ออกแบบหัวข้อสารบัญ ปริมาณข้อมูล และลำดับในการเขียน
กลับมาที่อาหารจานโปรดที่เห็นแล้วเซอร์ไพรส์กันต่อ ถ้าคุณหยิบช้อนขึ้นมาตักใส่ปากสักคำแล้วพบว่า โอ้ว ทำไมมันอร่อยอย่างนี้ ผมเชื่อว่าคุณจะยิ่งหลงรักพ่อครัวหรือคนที่หาอาหารนั้นมาให้คุณมากขึ้นไปอีก จริงไหมครับ
ถ้าอยากกินอยู่แล้ว แถมยังปรุงอร่อยอีก ก็ยิ่งฟินเป็น 2 เท่า หนังสือก็คล้ายกัน ถ้ามันเป็นสิ่งที่เขาอยากอ่านอยู่แล้ว แถมเนื้อหายังดี เข้าใจง่าย คนอ่านก็ฟิน 2 เท่าเช่นกัน
แล้วจะทำยังไงให้เนื้อหาดี เข้าใจง่ายล่ะ คำตอบอยู่ในวิธีการปรุง “กะเพราไก่สักจานให้อร่อย” ครับ
คำถามที่ 1 ถ้าจะทำกะเพราให้อร่อย มันต้องมีวัตถุดิบอะไรบ้าง
ตอบ : ไก่ กะเพราะ พริก เครื่องปรุง น้ำมัน
แน่นอนว่าไม่ควรใส่ทุเรียนสุกลงไปเพราะจะเพี้ยน เสียรสชาติกะเพรา ฮ่า ๆ หมายความว่าความอร่อยเริ่มต้นจากการมีวัตถุดิบที่ถูกต้อง เห็นด้วยไหมครับ
คำถามที่ 2 ในวัตถุดิบที่ถูกต้องนั้น อะไรควรมีปริมาณเยอะที่สุด
ตอบ : ไม่ไก่ก็กะเพรา
คงจะแปลกถ้าทำกะเพราแล้วน้ำมันมีปริมาณเยอะกว่าไก่และกะเพรา ผมกำลังอยากจะสื่อว่ากะเพราที่อร่อย นอกจากวัตถุดิบที่ถูกต้องจะสำคัญแล้ว สัดส่วนของวัตถุดิบเหล่านั้นก็ต้องเหมาะสมด้วย
คำถามที่ 3 เวลาจะผัดกะเพรา เอาอะไรลงกระทะเป็นสิ่งแรก
ตอบ : ไม่น้ำมันก็กระเทียม
แค่วัตถุดิบถูกและสัดส่วนถูกยังไม่พอ ลำดับการปรุงของวัตถุดิบก็มีผลด้วย
ทำกะเพราให้อร่อยกับเขียนหนังสือให้ดี เข้าใจง่ายคล้ายกันมากครับ
ทำกะเพราให้อร่อย |
เขียนหนังสือให้ดี เข้าใจง่าย |
วัตถุดิบ |
หัวข้อที่ควรมีในสารบัญ |
สัดส่วนของวัตถุดิบ |
ปริมาณหน้าในแต่ละหัวข้อ |
ลำดับการปรุง |
ลำดับหัวข้อสารบัญ |
โดยคอนเซปต์แล้วมีเพียงเท่านี้ ถ้าจะเอาไปประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติ คำแนะนำของผมคือให้ลองหาต้นแบบหนังสือที่เราชอบหัวข้อสารบัญ สัดส่วน และลำดับการเล่าเรื่อง มาลองวางเป็นโครงหลัก แล้วปรับแต่งให้เป็นของเราอีกทีครับ
ส่วนตัวของผม โครงสร้างที่ใช้ประจำคือ Why, What, How, Wow
Why : อธิบายว่าเพราะอะไรสิ่งนี้ เรื่องที่กำลังอ่านอยู่นี้ถึงสำคัญ
What : อธิบายว่าถ้าจะทำสิ่งนี้ได้ต้องรู้อะไรบ้าง
How : แจกแจงขั้นตอนให้เข้าใจง่าย
Wow : ยกกรณีศึกษาเจ๋ง ๆ ของเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่างของการวางโครงสร้างสารบัญหนังสือเปลี่ยนยากเป็นง่ายฯ
WHY / 31 หน้า : WHAT / 19 หน้า : HOW / 137 หน้า : WOW / 42 หน้า
ตัวอย่างถอดรหัสของโครงสร้างสารบัญหนังสือขายดีในหลักสูตร How to Make Bestseller Book เขียนได้ขายดี
Packaging : ออกแบบวิธีการเล่าเรื่อง การจัดรูปเล่มให้น่ามอง น่าอ่าน
กะเพราไก่ที่อร่อยมากในกล่องโฟม คุณยอมจ่ายเงินซื้อกี่บาทครับ
แล้วถ้าเป็นกะเพราไก่ที่อร่อยมาก แถมจัดวางใส่จานสวย จนอยากถ่ายรูปอวดเพื่อนในโซเชียล คุณยอมจ่ายเงินซื้อกี่บาทครับ
ถ้าคำตอบของคุณคือ ยอมจ่ายให้อย่างหลังมากกว่าอย่างแรก ผมกับคุณอาจคิดเหมือนกันว่า “ความน่ากินมีผล”
ถ้าความน่ากินมีผลต่ออาหาร ความน่าอ่านก็มีผลต่อหนังสือที่เราเขียนเช่นกัน การออกแบบหน้าปก การจัดรูปเล่ม รวมไปถึงวิธีการเล่าเรื่องให้น่าติดตามถือเป็น Packaging ครับ
จุดเปลี่ยนหนึ่งที่ทำให้หนังสือเปลี่ยนยากเป็นง่ายฯ กลายเป็นหนังสือ Bestseller ได้ก็น่าจะเพราะวิธีการเปลี่ยนตัวอักษรเยอะ ๆ ที่รู้สึกอ่านยากให้มีภาพประกอบคำอธิบายได้นั่นเอง
ตัวอย่าง : ต้นฉบับแรกที่เต็มไปด้วยตัวอักษร ใช้พลังในการอ่านพอสมควร
ตัวอย่าง : ต้นฉบับสองที่ใช้ภาพอธิบายมากขึ้นเทียบกับหนังสือจริง
ทั้งนี้อย่าลืมให้ความสำคัญกับเนื้อหาและการเขียนในสิ่งที่ผู้อ่านอยากอ่านก่อนนะครับ คงเปล่าประโยชน์หากเราทำ Packaging ได้สวยงามน่าอ่านจนมีคนซื้อ แต่ปรากฏว่าเข้าใจยาก แถมเนื้อหาไม่โดนใจคนอ่านด้วย
สรุปวิธีกลั่นความรู้เป็นหนังสือ ทำได้ด้วยขั้นตอนแบบนี้ครับ
หมายเหตุ : สำหรับหลักสูตร How to Make Bestseller Book เรามีช่วง Workshop ให้ได้ออกแบบสารบัญกันด้วย ข้อดีคือคุณจะได้มุมมองจากผมและเพื่อนร่วมชั้นเก่ง ๆ ที่บางทีก็เป็นนักเขียน
หวังว่าจะได้ไอเดียแล้วเอาไปต่อยอดนะครับ อย่าลืมอ่านสารบัญของหนังสือขายดีหลาย ๆ เล่ม รับรองว่าได้แนวทางแน่นอนครับ